สิ่งแวดล้อม มลภาวะ ของเสีย
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์
ไทย
ไม่ระบุ
มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ระยะที่ 1 - มิ.ย. 2566 / คณะทำงาน Thailand Taxonomy
2566
126
ธนาคารแห่งประเทศไทย
1. กรอบการพัฒนามาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย (Thailand Taxonomy Development Framework)
1.1. เหตุผลในการพัฒนามาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy)
ภาคการเงินมีบทบาทสำคัญในการรับมือต่อความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น การพัฒนามาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) เพื่อสนับสนุนการเงินสีเขียวจะเป็นตัวเร่งให้ภาคการเงินสามารถดำเนินงานเรื่องการเงินเพื่อความยั่งยืน (sustainable finance) ได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โดยทั่วไป มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) จะใช้เป็นกรอบในการจำแนกประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถรวบรวมข้อมูลการลงทุนและระดมเงินทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ โดย Taxonomy จะช่วยให้ธุรกิจ หน่วยงานกำกับดูแล และผู้กำหนดนโยบายในภาคส่วนต่าง ๆ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงและส่งเสริมการลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน นอกจากนี้ Taxonomy ยังทำให้การดำเนินงานด้านความยั่งยืนมีความโปร่งใส อีกทั้งเป็นเครื่องมือของภาครัฐในการจัดสรรเงินทุนให้ไปในทิศทางที่เหมาะสมและก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่สามารถวัดผลได้ รวมถึงสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emission) สำหรับภาคการเงิน Taxonomy ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืน เช่น ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (green bonds) สินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม (green loans) หลักทรัพย์ที่ออกโดยมีสินทรัพย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลักประกัน (green asset backed securities) และดัชนีสีเขียว (green indices) นอกจากนั้น Taxonomy ที่มีเงื่อนไขและตัวชี้วัดที่ชัดเจนจะทำให้นักลงทุนและหน่วยงานของรัฐสามารถวัดระดับการลดคาร์บอน (decarbonisation) ของภาคเศรษฐกิจและประสิทธิภาพของการลงทุนเพื่อลดคาร์บอนของภาคส่วนต่าง ๆ ตลอดจนสามารถระบุข้อควรปรับปรุงได้