รายละเอียดเอกสาร

วัสดุอุปกรณ์การแพทย์ เวชภัณฑ์

กฎระเบียบ

ไทย

กระทรวงสาธารณสุข

มาตรฐานความปลอดภัยของเครื่องกำเนิดรังสีเพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์ที่ต้องแจ้งการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ พ.ศ. 2566

2566/08/31

7

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอน 53 ก (31 สิงหาคม พ.ศ. 2566) หน้า 31-36 (ท้ายประกาศ 1 หน้า)

กฎกระทรวงมาตรฐานความปลอดภัยของเครื่องกำเนิดรังสีเพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์ที่ต้องแจ้งการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ พ.ศ. 2566

   อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคสาม มาตรา 8 (18) และมาตรา 91/1 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ในกฎกระทรวงนี้ “ผู้มีไว้ในครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสี” หมายความว่า ผู้มีเครื่องกำเนิดรังสีไว้ในครอบครอง และได้มีการใช้งานเครื่องกำเนิดรังสีนั้นเพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์ “เครื่องกำเนิดรังสี” หมายความว่า เครื่องกำเนิดรังสีที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับใช้เพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 26/1 วรรคหนึ่ง “ปริมาณรังสีสมมูล” หมายความว่า ผลรวมของปริมาณรังสีดูดกลืนในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะใด ๆ ของมนุษย์ หลังจากปรับเทียบการก่ออันตรายของรังสีทุกชนิดที่อวัยวะนั้นได้รับโดยเทียบกับการก่ออันตรายของรังสีเอกซ์และรังสีแกมมา มีหน่วยเป็นซีเวิร์ต “ปริมาณรังสียังผล” หมายความว่า ผลรวมของปริมาณรังสีสมมูลหลังจากปรับเทียบสภาพไวต่อรังสีของแต่ละเนื้อเยื่อหรืออวัยวะทั่วร่างกายของมนุษย์ มีหน่วยเป็นซีเวิร์ต “ผู้ปฏิบัติงานทางรังสี” หมายความว่า ผู้ปฏิบัติงานให้กับผู้มีไว้ในครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสีทั้งแบบเต็มเวลา แบบไม่เต็มเวลา หรือแบบชั่วคราว ซึ่งเกี่ยวข้องกับรังสี “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ข้อ 2 ผู้มีไว้ในครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสีต้องดูแลรักษาเครื่องกำเนิดรังสีให้มีคุณภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำหนด และต้องจัดให้มีการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของเครื่องกำเนิดรังสีโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หน่วยงานที่อธิบดีมอบหมาย หรือหน่วยงานที่อธิบดีประกาศกำหนด ภายในระยะเวลา ดังต่อไปนี้  (1) ทุกสามปี สำหรับเครื่องตรวจความหนาแน่นของกระดูก และเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมที่ไม่ใช่เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทางทันตกรรมชนิดลำรังสีรูปกรวย (cone beam computed tomography) ทั้งนี้เฉพาะเครื่องที่มีอายุการใช้งานไม่เกินสิบปี (2) ทุกสองปี สำหรับเครื่องกำเนิดรังสีประเภทอื่นที่ไม่ใช่เครื่องกำเนิดรังสีประเภทตาม (1) รวมทั้งเครื่องกำเนิดรังสีประเภทตาม (1) ที่มีอายุการใช้งานเกินสิบปี ให้ผู้มีไว้ในครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสียื่นสำเนารายงานผลการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของเครื่องกำเนิดรังสีต่ออธิบดีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายงานผลการตรวจสอบ เว้นแต่การตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของเครื่องกำเนิดรังสีนั้น เป็นการดำเนินการโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้มีไว้ในครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสีจะแจ้งหมายเลขวิเคราะห์ของรายงานผลการตรวจสอบแทนการยื่นสำเนารายงานผลการตรวจสอบก็ได้ ในกรณีที่ผู้มีไว้ในครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสีแจ้งให้หน่วยงานมาตรวจสอบเครื่องกำเนิดรังสีภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ระยะเวลาในการจัดให้มีการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของเครื่องกำเนิดรังสีครั้งถัดไป ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้มีไว้ในครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสีได้รับรายงานผลการตรวจสอบ แต่หากผู้มีไว้ในครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสีมิได้แจ้งให้หน่วยงานมาตรวจสอบเครื่องกำเนิดรังสีภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ระยะเวลาในการจัดให้มีการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของเครื่องกำเนิดรังสีครั้งถัดไป ให้เริ่มนับจากวันสุดท้ายของกำหนดเวลาเดิมนั้น

ข้อ 3 ผู้มีไว้ในครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสีต้องจัดให้สถานที่ บริเวณหรือห้องที่ติดตั้งเครื่องกำเนิดรังสีสามารถป้องกันรังสีได้ตามมาตรฐานที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำหนด และอย่างน้อยต้องจัดให้มีการเตือนภัยทางรังสีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แสดงให้เห็นได้ชัดเจนที่บริเวณทางเข้าสถานที่บริเวณ หรือห้องที่ติดตั้งเครื่องกำเนิดรังสี ....


หมายเหตุ : เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 8 (18) และมาตรา 91/1 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อให้ผู้มีไว้ในครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสีที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับใช้เพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์ซึ่งไม่มีวัสดุกัมมันตรังสีเป็นส่วนประกอบและเพื่อใช้งานในสถานพยาบาลตามมาตรา 26/1 วรรคหนึ่ง ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้