รายละเอียดเอกสาร

พลังงานและเชื้อเพลิง

กฎระเบียบ

ไทย

กระทรวงพลังงาน

กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2566

2566/6/14

14

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนพิเศษ 138 ง (14 มิถุนายน พ.ศ. 2566) หน้า 12-25

ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2566

   อาศัยอำนาจตามความในข้อ 21 ข้อ 29 ข้อ 33 ข้อ 37 วรรคสอง และข้อ 42 วรรคสอง แห่งกฎกระทรวงสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 2 ในประกาศนี้

“ทดสอบและตรวจสอบก่อนการใช้งาน” หมายความว่า การทดสอบและตรวจสอบถัง ท่อ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้อง ภายหลังจากทำการติดตั้งแล้วเสร็จ ก่อนที่จะบรรจุและใช้งานกับก๊าซธรรมชาติ

“ทดสอบตามวาระ” หมายความว่า การทดสอบและตรวจสอบถัง ท่อ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามกำหนดระยะเวลาที่กำหนดในประกาศนี้

“ทดสอบกรณีที่ได้รับความเสียหาย” หมายความว่า การทดสอบและตรวจสอบถัง ท่อ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อได้รับความเสียหายที่มีเหตุอันอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรง ต้องมีการทดสอบและตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยก่อนนำกลับมาใช้งาน

“วาล์วปิดเปิดก๊าซ (isolating valve)” หมายความว่า อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับควบคุมการไหลของก๊าซธรรมชาติที่สามารถปิดเปิดได้อย่างรวดเร็ว สำหรับก๊าซธรรมชาติอัดให้มีช่วงการหมุนปิดเปิดไม่เกิน 90 องศา (ball valve) และอุปกรณ์สำหรับก๊าซธรรมชาติเหลวให้มีช่วงการหมุนปิดเปิดเกิน 90 องศา ได้ (globe valve) 

“อุปกรณ์ควบคุมความดันก๊าซเกินพิกัดแบบระบายไอ (pressure relief device)”  หมายความว่า อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ควบคุมความดันภายในไม่ให้สูงเกินกว่าที่อุปกรณ์นี้ตั้งไว้ โดยจะทำหน้าที่ระบายก๊าซธรรมชาติออกก่อนที่ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติ หรือระบบท่อก๊าซธรรมชาติต่าง ๆ เกิดความเสียหาย

“เครื่องทำไอก๊าซธรรมชาติ (vaporizer)” หมายความว่า อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนสถานะของก๊าซธรรมชาติเหลวให้กลายเป็นไอก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ปรับแรงดันของถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว

“ถังบรรจุน้ำมัน” หมายความว่า ภาชนะบรรจุน้ำมันที่มีปริมาณความจุเกิน 227 ลิตร หรือกลุ่มของภาชนะบรรจุน้ำมันที่มีปริมาณความจุแต่ละภาชนะไม่เกิน 227 ลิตร และมีปริมาณความจุรวมกันเกิน 500 ลิตร

“ไฟฟ้าแรงสูง” หมายความว่า ระบบไฟฟ้าที่มีแรงดันระหว่างเฟสเกิน 1,000 โวลต์ หรือแรงดันเทียบดินเกิน 100 โวลต์

“ระบบไฟฟ้า” หมายความว่า องค์ประกอบต่าง ๆ ของอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและบริภัณฑ์ ที่ใช้ต่อเข้ากับการติดตั้งทางไฟฟ้า ทั้งนี้ ให้รวมถึงระบบปิดฉุกเฉินและระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าด้วย

“บริภัณฑ์” หมายความว่า สิ่งซึ่งรวมทั้งวัสดุ เครื่องประกอบ อุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ดวงโคม เครื่องสำเร็จและสิ่งอื่นที่คล้ายกัน ที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งหรือใช้ในการต่อเข้ากับการติดตั้งทางไฟฟ้า

“บริเวณอันตราย” หมายความว่า บริเวณที่ซึ่งมีก๊าซหรือไอที่ติดไฟได้ ผสมอยู่ในอากาศ ปริมาณมากพอที่จะทำให้เกิดการระเบิดได้

“มาตรฐาน  IEC”  หมายความว่า  มาตรฐานที่ประกาศโดยคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศ ว่าด้วยมาตรฐานสาขาอิเล็กทรอเทคนิกส์  (International Electrotechnical Commission)

หมวด 1 สถานีบริการก๊าซธรรมชาติอัด และสถานีบริการก๊าซธรรมชาติอัดจากก๊าซธรรมชาติเหลวเฉพาะที่เป็นก๊าซธรรมชาติอัด

ส่วนที่ 1 ระยะปลอดภัย

ข้อ 3 ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติอัด และเครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาติ ต้องมีระยะปลอดภัย ดังนี้

(1) ต้องห่างจากเขตสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ และผนังอาคารบริการอื่นที่ไม่ใช่อาคาร เครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาติ  หรืออาคารจอดรถขนส่งก๊าซ ไม่น้อยกว่า 6.00 เมตร  เว้นแต่ระยะปลอดภัยไม่เป็นไปตามระยะที่กำหนดไว้ ต้องสร้างกำแพงกันไฟที่มีระยะห่างไม่น้อยกว่า 1.00 เมตร จากถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติอัดและเครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาติ  และกำแพงกันไฟต้องห่างจากเขตสาธารณะ เขตสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ และผนังอาคารบริการอื่นที่ไม่ใช่อาคารเครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาติหรืออาคารจอดรถขนส่งก๊าซ ไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร ....