รายละเอียดเอกสาร

สิ่งแวดล้อม มลภาวะ ของเสีย

กฎระเบียบ

ไทย

คณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน

การปกครอง ดูแลบำรุงรักษา ใช้ประโยชน์จากไม้ และใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชุมชน พ.ศ. 2566

2566/7/18

17

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนพิเศษ 174 ง (18 กรกฎาคม พ.ศ. 2566) หน้า 8-24

ระเบียบคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน ว่าด้วยการปกครอง ดูแลบำรุงรักษา ใช้ประโยชน์จากไม้ และใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชุมชน พ.ศ. 2566

   โดยที่มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 กำหนดให้การจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ป่าหรือพื้นที่อื่นของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงเขตหรือเพิกถอนพื้นที่ป่า หรือเปลี่ยนแปลงสถานะหรือถอนสภาพพื้นที่อื่นของรัฐที่นำมาจัดตั้งเป็นป่าชุมชน และมิให้นำกฎหมายว่าด้วยป่าไม้และกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติมาใช้บังคับเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการเพิกถอนป่าชุมชน โดยให้ใช้ระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนดตามมาตรา 18 แทน และมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายกำหนดระเบียบว่าด้วยการปกครอง ดูแลบำรุงรักษา ใช้ประโยชน์จากไม้ และใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชุมชน โดยต้องคำนึงถึงกฎหมายว่าด้วยป่าไม้และกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติด้วย จึงเป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์ว่าด้วยการปกครอง ดูแลบำรุงรักษา ใช้ประโยชน์จากไม้ และใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชุมชนขึ้นใช้บังคับ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16 (4) และมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 และมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 คณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน ออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน ว่าด้วยการปกครอง ดูแลบำรุงรักษา ใช้ประโยชน์จากไม้ และใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชุมชน พ.ศ. 2566”

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ 3 บรรดาระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ และคำสั่งอื่นใดในส่วนที่กำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน

ข้อ 4 ในระเบียบนี้

“พื้นที่ป่าชุมชน” หมายความว่า พื้นที่ภายในแนวเขตป่าชุมชนแต่ละแห่งที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562

“ทาง” หมายความว่า ทางทุกประเภทในพื้นที่ป่าชุมชนแต่ไม่รวมถึงทางตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง

“แปรรูป” หมายความว่า การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ไม้ ดังต่อไปนี้ (1) เลื่อย ผ่า ถาก ขุด หรือกระทำาด้วยประการอื่นใดแก่ไม้ให้เปลี่ยนรูปหรือขนาดไปจากเดิม แต่ไม่รวมถึงการลอกเปลือกหรือตบแต่งอันจำเป็นแก่การชักลาก (2) เผา อบ บด หรือกระทำด้วยประการอื่นใดแก่ไม้ให้เปลี่ยนแปรสภาพไปจากเดิม เพื่อถือเอาวัตถุธาตุหรือผลพลอยได้จากไม้นั้น

“ไม้แปรรูป” หมายความว่า ไม้ที่ได้แปรรูปแล้ว และหมายความรวมถึงไม้ที่อยู่ในสภาพพรางว่าเป็นสิ่งปลูกสร้าง หรืออยู่ในสภาพเป็นสิ่งปลูกสร้างอันไม่ชอบด้วยลักษณะสิ่งปลูกสร้างทั่ว ๆ ไป หรือที่ผิดปกติวิสัย หรืออยู่ในสภาพเป็นเครื่องใช้ที่ไม่ชอบด้วยลักษณะของเครื่องใช้ที่ใช้เป็นปกติในท้องที่นั้น หรือที่ผิดปกติวิสัย

“โรงค้าไม้แปรรูป” หมายความว่า สถานที่ที่ค้าไม้แปรรูปหรือที่มีไม้แปรรูปไว้เพื่อการค้า รวมถึงบริเวณสถานที่นั้น ๆ ด้วย

“ไม้หวงห้าม” หมายความว่า ไม้หวงห้ามตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้

“ชักลาก” หมายความว่า การนำไม้หรือของป่าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งด้วยกำลังแรงงาน

“แผนจัดการป่าชุมชน” หมายความว่า แผนจัดการป่าชุมชนที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด

“แหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียน” หมายความว่า แหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์

“เจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอ” หมายความว่า เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีให้เป็นเจ้าหน้าที่ผู้รับคำขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชุมชน หรือเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดให้เป็นเจ้าหน้าที่ผู้รับคำขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าชุมชนเพื่อก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน แล้วแต่กรณี

“หน่วยตรวจสภาพป่า” หมายความว่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้แห่งท้องที่หรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดี

“เจ้าหน้าที่ตรวจป่า” หมายความว่า เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากหน่วยตรวจสภาพป่าให้เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจป่า

“โครงการ T-VER” หมายความว่า โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER)

“อบก.” หมายความว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

“คาร์บอนเครดิต” หมายความว่า ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้จากการดำเนินโครงการ T-VER และได้รับการรับรองจาก อบก. โดยมีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq)

“ผู้ยื่นคำขอ” หมายความว่า บุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือหน่วยงานของรัฐที่ยื่นคำขอเข้าร่วมโครงการ T-VER กับกรมป่าไม้

“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมป่าไม้

ข้อ 5 ให้ประธานกรรมการนโยบายป่าชุมชนรักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ....