22 ธ.ค. 66
8 ทางออก แก้วิกฤติฝุ่น PM 2.5 กระทรวงพาณิชย์ ชี้ “ธุรกิจบริการ” ผู้เล่นสำคัญ แก้ปัญหา เปิดข้อมูล เทียบ สิงคโปร์ ฟันโทษหนัก ผู้ประกอบการก่อฝุ่นควัน ขณะหลายประเทศ โหด! รถยิ่งเก่า ยิ่งต้องเสียภาษีสูง
รู้หรือไม่? ไม่ใช่เพียงภาคอุตสาหกรรม และการก่อสร้างเท่านั้น ที่เป็นต้นเหตุสำคัญ ของวิกฤติฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทย แต่ภาคบริการ เช่น สาขาการขนส่ง สถานที่เก็บสินค้า และการขายปลีก ก็เป็นหนึ่งในภาคธุรกิจ ที่ปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด และยังเป็นตัวการสำคัญของการปลดปล่อยฝุ่นควัน PM 2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ศึกษามาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ตลอดจนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของต่างประเทศ พบหลายๆ ประเทศทั่วโลก ได้เปลี่ยนบทบาทของ ผู้ร้ายที่ว่า มาสู่ ผู้เล่นสำคัญ ในการฝ่าวิกฤติฝุ่น PM 2.5 อย่างน่าสนใจ เช่น
- สหภาพยุโรป มีแนวทางพัฒนาธุรกิจภาคบริการให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องตามนโยบาย European Green Deal ที่มุ่งส่งเสริมธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น ยกระดับธุรกิจจัดการของเสีย สู่การเป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มต่อการผลิตสินค้าและบริการทั้งระบบ เป็นต้น
- สหรัฐอเมริกา ใช้กลไกอำนาจระดับมลรัฐ จำกัดการใช้ยานยนต์เครื่องสันดาปและส่งเสริมให้ใช้ยานยนต์พลังงานทางเลือก
- สิงคโปร์กำหนดโทษทั้งทางแพ่งและอาญาแก่ผู้ประกอบการที่มีส่วนร่วมให้เกิดฝุ่นควัน ข้ามพรมแดน ซึ่งเห็นผลอย่างชัดเจนจากการที่นักธุรกิจสิงคโปร์ที่ลงทุนประกอบธุรกิจในอินโดนีเซียลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นควันลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
- จีน หน่วยงานระดับภูมิภาคและท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการควบคุมปริมาณการใช้ ยานพาหนะ รวมถึงการสนับสนุนให้ใช้ยานพาหนะพลังงานทางเลือก และการควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมและครัวเรือนให้ลดการใช้พลังงานถ่านหินและเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาด
- มอลตา และอีกหลายประเทศ ที่กำหนดให้รถที่มีอายุการใช้งานสูงกว่าต้องเสียภาษีสูงกว่าฝุ่น PM 2.5 ฉุดเศรษฐกิจไทยวูบ 6%
ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ภาคบริการ นับเป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจของไทย ย้อนปี 2565 ภาคบริการ มีสัดส่วนสูงถึง 58.71% ของ GDP มูลค่ากว่า 10.2 ล้านล้านบาท และมีผู้ประกอบการมากถึงกว่า 2.6 ล้านราย มีการจ้างงานกว่า 12.8 ล้านคน ครอบคลุมธุรกิจหมวดใหญ่ๆ ถึง 15 สาขา เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของประชาชน เช่น กิจกรรมการค้าส่ง-ค้าปลีก ตัวกลางจัดหาสินค้าจากภาคการผลิตทางเกษตรและอุตสาหกรรมสู่ผู้บริโภค กิจกรรมการขนส่ง และจัดเก็บสินค้า หรือ ธุรกิจโลจิสติกส์ กระจายสินค้าไปยังพื้นที่ต่างๆ รวมถึง การขนส่งผู้โดยสาร ที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตของผู้คนก็ด้วย ท่ามกลางข้อมูลชวนตกใจ เกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากฝุ่น PM 2.5 ที่ประเทศไทยเผชิญในแต่ละปี โดยรายงานการติดตามสภาวะเศรษฐกิจไทยฉบับเดือนธันวาคม 2566 ของธนาคารโลกระบุว่า ไทยประสบความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 6% ของ GDP จากผลกระทบของวิกฤติฝุ่นควัน PM 2.5 ต่อ สุขภาพของประชาชน และให้คำแนะนำว่า ไทยควรใช้มาตรการเก็บภาษีคาร์บอน หรือการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาดังกล่าว .....