25 พ.ย. 66
วิทยาศาสตร์แท้จริงแล้วคือกระบวนการ ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ และหากวิทยาศาสตร์พยายามอุดช่องโหว่ของตัวเองเพื่ออธิบายความเป็นจริงของธรรมชาติแล้ว มันก็อาจเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่เรามี ณ ตอนนี้ในการอธิบายสิ่งต่าง ๆ
“เราจะนำวิทยาศาสตร์มาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร” คำถามนี้อาจจะเหมือนคำถามง่าย ๆ แต่จริง ๆ แล้วเราสามารถตอบคำถามนี้ได้อย่างซับซ้อน ในขั้นแรกเราอาจจะมองคำถามนี้เหมือนคำถามเช่น “เราจะนำเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร” หรือ “เราจะนำแมวมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร” ซึ่งคำตอบก็อาจจะดูง่ายมาก เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ก็คือการนำเอาปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาใช้ การนำเอาหุ่นยนต์มาใช้ หรือการนำแมวมาใช้ในชีวิตประจำวันก็อาจจะคือการนำมาใช้จับหนู แต่นั่นคือคำตอบในลักษณะที่เรามองว่า เทคโนโลยีหรือแมวเป็นผลิตภัณฑ์ (Product) แต่จริง ๆ แล้วหากเรามองทุกอย่างเป็นกระบวนการ เราอาจต้องถอยย้อนกลับมาหนึ่งก้าวแล้วมองสิ่งที่เป็นกระบวนการมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์ ริชาร์ด ไฟน์แมน (Richard Feynman) ได้เคยเปรียบเทียบการมองวิทยาศาสตร์เป็นเพียงแค่ผลิตภัณฑ์ว่า มันเหมือนกับลัทธิบูชาสินค้าที่หลงลืมกระบวนการที่แท้จริงของวิทยาศาสตร์ ซึ่งนั่นหมายความว่าแท้จริงแล้วการตอบคำถามว่า “เราจะนำวิทยาศาสตร์มาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร” ไม่ใช่การตอบคำถามเชิงการนำเอาผลิตภัณฑ์ของวิทยาศาสตร์ (ซึ่งอาจจะเหมารวมถึง AI หุ่นยนต์ หรือการตัดต่อดีเอ็นเอ) มาใช้ แต่เป็นการนำเอาหลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นกระบวนการมาใช้นั่นเอง ....