16 พ.ย. 66
อย่างที่เราทราบในปัจจุบัน ทั่วโลกต่างตื่นตัวในการดูแลป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และในหลายประเทศก็มีการนำเกณฑ์การแก้ปัญหาลดโลกร้อน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมาตรการกีดกันทางการค้าขึ้นมาอีกด้วย
ที่เห็นได้ชัด คือ เมื่อ 1 ต.ค. 2566 กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) เพิ่งเป็นชาติแรก ๆ ที่ออกกฎระเบียบเกี่ยวกับการจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ หรือที่มีชื่อเต็มว่า “มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM)” ซึ่งมีการเพิ่มข้อจำกัด หลักเกณฑ์เงื่อนไข ที่เกี่ยวพันกระทบต่อประเทศที่ทำมาค้าขายกับอียูโดยตรง ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงประเทศไทย ที่มีอียูเป็นตลาดส่งออกหลัก ติดท็อป 5 ของไทยด้วย สำหรับสาระของมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ได้กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่ (1) เหล็กและเหล็กกล้า (2) อะลูมิเนียม (3) ซีเมนต์ (4) ปุ๋ย (5) ไฟฟ้า และ (6) ไฮโดรเจน ต้องแจ้งปริมาณสินค้าที่นำเข้ามาในอียู และปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสินค้านั้น โดยมีผลไปแล้วตั้งแต่ 1 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ข้อดีคือในขณะนี้ อียูยังมีช่วงเว้นวรรคให้ประเทศคู่ค้ามีการปรับตัวไปพลางก่อน โดยในช่วง 3 ปีแรก (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566-31 ธันวาคม 2568) กำหนดให้เป็นระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน แต่ผู้นำเข้าจะต้องแจ้งข้อมูลย้อนหลังทุกไตรมาส (เช่น ในเดือนมกราคม 2567 จะต้องแจ้งข้อมูลของช่วงระหว่าง 1 ตุลาคม 2566-ธันวาคม 2566) จากนั้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 จะเริ่มบังคับใช้จริง โดยจะต้องแจ้งข้อมูลย้อนหลังทุกปี และอียูจะเริ่มมาตรการบังคับที่กำหนดให้ ผู้นำเข้าต้องซื้อ “ใบรับรอง CBAM” ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านั้นอย่างจริงจัง ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ผู้ส่งออกที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ จำนวนมากเกินมาตรฐานที่อียูกำหนด จะต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อใบรับรอง CBAM มากขึ้น แต่ในทางกลับกัน หากผู้ประกอบการรายใดสามารถปรับตัว ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ได้น้อย ก็จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ หรือจ่ายน้อยกว่าปกติ เป็นต้น ....