อย.ถกกรมประมง ปส. - สทน. ยันไม่ห้ามนำเข้า "อาหารทะเล" จากญี่ปุ่น หลังปล่อยน้ำเสียจากโรงงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมะลงทะเล แต่ปักหมุดเป็นพื้นที่เรดโซน ดักจับทุกกรณีตั้งแต่ที่ด่านนำเข้า ย้ำมีการตรวจมาตั้งแต่ปี 2554 ไม่พบปนเปื้อนกัมมันตรังสีเกินกำหนด เผยเตรียมสุ่มตรวจที่ด่านเพิ่มขึ้น 2 เท่า หากพบปนเปื้อนทำลายทิ้ง ประสานกรมอนามัยตรวจร้านอาหาร สร้างความมั่นใจ คาดล็อตแรกหลังปล่อยน้ำเสียถึงไทยกลาง ก.ย.นี้
เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงมาตรการเฝ้าระวังความปลอดภัยสินค้าประมงนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ภายหลังมีการปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิลงสู่ทะเลตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2566 แม้จะระบุได้รับการรับรองจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) แล้วว่า เมื่อเย็นวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา อย.ประชุมร่วมกับกรมประมง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เพื่อกำหนดมาตรการเฝ้าระวังและตรวจสอบอาหารทะเลนำเข้าจากญี่ปุ่น ขอผู้บริโภคอย่าวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัย เพราะการนำเข้าอาหารทะแล เจ้าหน้าที่ด่านประมงของกรมประมง และด่านอาหารและยา ของ อย. มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดร่วมกับ ปส.และ สทน.เพื่อมิให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในอาหารเกินมาตรฐานที่กำหนด หากพบจะสั่งเรียกคืน และระงับการนำเข้าทันที รวมถึงจะใช้มาตรการส่งคืนหรือทำลาย "อันที่จริงไม่ใช่ว่าจะเพิ่งมามีมาตรการป้องกันหลังจากมีรายงานปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่น ความจริงตั้งแต่ที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ระเบิดหลังจากโดนสึนามิเมื่อปี 2554 ก่อน อย.ร่วมกับกรมประมงเก็บตัวอย่างอาหารทะเลที่ถูกส่งมาจากพื้นที่นั้นต่อเนื่อง เพื่อส่งไปตรวจที่ ปส.และ สทน.จนถึงปัจจุบัน เพราะถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะอาหารทะเลที่ไม่ได้อยู่ในน้ำลึกมาก จากการตรวจสอบตั้งแต่วันนั้นจนถึงปัจจุบัน ไม่พบว่ามีกัมตรังสีที่เกินจากที่กฎหมายกำหนด นี่คือสิ่งที่เราทำมาอย่างต่อเนื่อง และจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ญี่ปุ่น เก็บตัวอย่างอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์ประมงจากเมืองฟูกุชิมะ ส่งตรวจวิเคราะห์ในปี 2565 ถึง ก.ย. 2566 จํานวน 4,375 ตัวอย่าง การปนเปื้อนกัมมันตรังสีไม่เกินมาตรฐานตามที่กำหนดในประกาศของไทยเช่นกัน" ภก.เลิศชายกล่าว ....