22 ส.ค. 66
จะว่าชิปหรือเซมิคอนดักเตอร์เป็นสิ่งสร้างสังคมมนุษย์ยุคปัจจุบันก็ไม่ผิดจากความเป็นจริงนัก
เพราะปัจจุบัน สิ่งอำนวยความสะดวกแทบทั้งหมดที่มนุษย์พึ่งพาในชีวิตต้องใช้ชิปในการให้พลังงานทั้งสิ้น ตั้งแต่ iPhone ปัญญาประดิษฐ์ และรถยนต์ ไปจนถึงระบบขีปนาวุธและจรวดไปดวงจันทร์ แต่กว่าจะสร้างชิปเหล่านี้ขึ้นมาได้ นอกจากจะมีขั้นตอนยาวเหยียดในห่วงโซ่การผลิตโลกที่กินพื้นที่ค่อนโลกแล้ว ยังใ่ช้ทรัพยากรมหาศาลและสร้างภาระต่อโลกอย่างมากด้วย
โรงกลั่นน้ำมันยังเทียบไม่ติด
แม้เป้าหมายของการผลิตชิปคือการบรรจุจำนวนทรานซิสเตอร์มากที่สุดในพื้นที่ซิลิคอนที่เล็กที่สุด คือการทำให้ชิปมีประสิทธิภาพสูงขึ้นแต่ใช้ไฟน้อยลง แต่การผลิตชิปกลับใช้ไฟฟ้ามากขึ้นตามความซับซ้อนในการผลิตที่เพิ่มขึ้น บริษัทที่ปรึกษา McKinsey & Company เผยว่าโรงงานผลิตชิปใหญ่ ๆ ใช้ไฟฟ้าโดยเฉลี่ย 100 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง เทียบกับบ้าน 10,000 หลัง หรือมากกว่าที่โรงงานผลิตยานยนต์หรือโรงกลั่นน้ำมันใช้ซะอีก โรงงานผลิตชิปขนาดใหญ่มักต้องมีโรงผลิตไฟฟ้า เพื่อให้พลังงานกับการผลิตของโรงงานแห่งนั้นเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันยังไม่มีการพัฒนามาตรการประหยัดไฟฟ้าที่ดีพอ บางโรงงานอาจมีมิเตอร์ไฟฟ้าเพียงแค่จุดเดียวเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ไฟฟ้าที่ใช้อาจสูงได้ถึง 30 ล้านเหรียญต่อปี (ราว 1,057 ล้านบาท) รายงานจาก Statista ชี้ว่าสิ่งที่กินไฟมากที่สุดในโรงงานผลิตชิปคือเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต เป็นสัดส่วนสูงถึง 45% หากเทียบภาพง่าย ๆ ว่าใช้มากแค่ไหน Greenpeace บอกว่าในปี 2021 อุตสาหกรรมชิปของ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ผู้นำตลาดชิปโลกจากไต้หวันใช้ไฟสูงถึง 5% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าของเกาะไต้หวันรวมกัน แถมยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.2% ภายในปี 2022 ....