วันที่ 24 สิงหาคม วิมุติ วสะหลาย ฝ่ายวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทย เขียนบทความ อินเดียทำสำเร็จ จันทรยาน 3 ลงจอดใกล้ขั้วใต้ดวงจันทร์ มีเนื้อหา ต่อไปนี้
จันทรยาน 3 เป็นยานอวกาศในโครงการจันทรยาน ซึ่งเป็นโครงการสำรวจดวงจันทร์ของอินเดีย ดำเนินการโดยองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) ได้ออกเดินทางจากโลกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 โดยจรวดวีแอลเอ็ม 3 การเดินทางของจันทรยาน 3 ใช้วิธีที่ประหยัดพลังงาน ใช้จรวดที่มีกำลังขับปานกลางก็เพียงพอที่จะพาไปดวงจันทร์ได้แล้ว เพียงแต่จะต้องเลือกใช้เส้นทางที่ซับซ้อนขึ้นเล็กน้อย เมื่อขึ้นสู่อวกาศได้ ยานได้โคจรรอบโลกเพื่อปรับวงโคจรห้าครั้ง เพื่อให้รีขึ้นและมีความเร็วมากขึ้น จนกระทั่งถึงวันที่ 25 กรกฎาคม ยานก็เข้าสู่วงโคจรที่มีจุดไกลโลกที่สุดถึง 120,000 กิโลเมตร
ในวันที่ 1 สิงหาคม ยานได้จุดจรวดอีกครั้งเพื่อเบี่ยงออกจากวงโคจรรอบโลกและมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ เมื่อยานไปถึงดวงจันทร์ในวันที่ 9 สิงหาคม ก็เข้าโคจรอบดวงจันทร์ด้วยวงโคจรเริ่มต้นที่รีมาก ยานโคจรรอบดวงจันทร์พร้อมกับปรับวงโคจรห้าครั้งเพื่อให้เล็กลงและกลมขึ้นทีละน้อย จนถึงวันที่ 16 สิงหาคม วงโคจรของจันทรยาน 3 มีความสูงจากพื้นผิว 153×163 กิโลเมตร ซึ่งเกือบเป็นวงกลมแล้ว ในขั้นตอนต่อมา ยานได้จุดจรวดอีกหลายครั้งเพื่อปรับวงโคจรให้รีขึ้นและเล็กลงโดยมีจุดใกล้ดวงจันทร์ที่สุดลงมาต่ำถึง 30 กิโลเมตรเหนือพื้นดินและมีจุดไกลสุดอยู่ที่ 100 กิโลเมตร ซึ่งเป็นวงโคจรสุดท้ายก่อนที่การแยกตัวเพื่อลงจอดจะเริ่มขึ้น ....